บัตรคอนฯ ราคาแพง (เกินไปไหม) แล้วเราจะยังไปดีหรือเปล่า?

บัตรคอนฯ ราคาแพง (เกินไปไหม) แล้วเราจะยังไปดีหรือเปล่า?

.

เกือบจะถึงช่วงสิ้นปี 2022 แล้ว ใครที่เป็นสายดูคอนเสิร์ตทั้งของศิลปินไทยและต่างประเทศน่าจะมีความเห็นตรงกันว่าปีนี้เป็นปีที่มีตารางคอนเสิร์ตแน่นเอี้ยดเสียเหลือเกิน ศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศพากันมาจัดคอนเสิร์ตแทบจะทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ประหนึ่งว่าในพิธีแรกนาขวัญ พระโคเลือกกินบัตรคอนเสิร์ตแทนของกินสำหรับเสี่ยงทายอย่างไรอย่างนั้น

.

และในช่วงหลายเดือนมานี้ ถ้าหากคุณเป็นผู้ใช้ทวิตเตอร์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเป็นแฟนคลับของศิลปินเคป๊อป) ก็อาจจะได้เห็นว่า เมื่อมีประกาศออกมาว่าจะมีศิลปินวงใดจัดงานคอนเสิร์ต นอกจากกลุ่มแฟนคลับจะดีใจที่จะได้เจอศิลปินที่ชื่นชอบ และตื่นเต้นที่จะได้ฟังเพลงแบบสด ๆ หลังจากที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดทำให้ไม่มีคอนเสิร์ตกว่า 2 ปีแล้ว สิ่งที่ตามมาแทบจะควบคู่กันไปก็คือเสียงบ่นโอดครวญว่าราคาบัตรคอนฯ แพงเกินไป สิทธิ์ที่ให้ไม่คุ้มค่ามากพอ (ยังไม่รวมถึงเรื่องที่ผู้จัดมักจะประกาศราคาบัตรออกมาไม่กี่วันก่อนจะเปิดขายบัตรอีกนะ)

.

อันที่จริงแล้ว ประเด็นเรื่องบัตรคอนราคาแพงเกินไป (ไหม) ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นที่ถกเถียงในทวิตเตอร์มาตลอด เพราะตั้งแต่ที่เริ่มมีการจัดคอนเสิร์ตในปี 2022 นี้ แฟนคลับหลาย ๆ วงก็ต่างออกความเห็นกันว่า ราคาของบัตรคอนเสิร์ตดูจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่โรคโควิดจะระบาด เช่น จากที่บัตรราคา 6000-6500 บาท เคยเป็นบัตรราคาแพงสุด เป็นบัตร ‘วีไอพี’ ที่คนที่ซื้อบัตรราคานี้จะได้นั่งชิดติดขอบเวที ก็กลายเป็นว่าในตอนนี้หากจ่ายในราคาเดิมก็อาจซื้อได้เพียงที่นั่งแถวกลาง ๆ เท่านั้น 

นอกจากนี้ สิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่เคยมีให้ก็ดูจะลดน้อยลงไปทุกที จากที่ทุกคนที่ซื้อบัตรวีไอพีแล้วจะได้สิทธิ์ถ่ายรูปกับศิลปินก็เปลี่ยนเป็นสุ่มสิทธิ์ หรือจากที่ทุกคนที่ซื้อบัตรวีไอพีจะได้ไฮทัช (จับมือกับศิลปิน) ก็กลายเป็นต้องลุ้นว่าตนจะโชคดีได้รับสิทธิ์นั้นหรือไม่

.

คำถามต่อมาที่ทุกคนน่าจะคิดขึ้นมาเหมือนกันคงเป็น ‘ทำไมบัตรคอนฯ ถึงได้ราคาแพงนัก เป็นเพราะประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะเงินเฟ้อหรือเปล่า?’

.

The Standard ได้เผยข้อมูลที่ได้มาจากผู้จัดคอนเสิร์ตว่า สาเหตุที่ผู้จัดฯ เลือกที่จะปรับราคาบัตรคอนเสิร์ตให้สูงกว่าในอดีตเป็นเพราะต้นทุน ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับเงินเฟ้อ ทำให้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับคอนเสิร์ต เช่น ค่าจ้างศิลปิน ค่าลิขสิทธิ์เพลง หรือค่าเช่าสถานที่จัดคอนเสิร์ต เพิ่มขึ้นตามมา ประกอบกับปัญหาผู้ชมคอนเสิร์ตมีกำลังซื้อน้อยลง ด้วยสองสาเหตุนี้ ผู้จัดฯ จึงต้องตั้งราคาบัตรคอนเสิร์ตออกมาเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม อาจมีบางคอนเสิร์ตที่ผู้จัดเลือกจะตั้งราคาไว้สูง ๆ เพราะได้ประเมินกำลังซื้อกลุ่มเป้าหมายเอาไว้แล้ว

.

อย่างไรก็ตาม แม้ทางผู้จัดจะได้แจกแจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการจัดงานมาแล้ว แต่ดูเหมือนว่าทางด้านผู้ชมคอนเสิร์ตก็ยังเห็นว่าบัตรคอนเสิร์ตราคาแพงเกินไปอยู่ดี ทำให้เกิดคำถามที่สองตามมาว่า ‘แล้วทางออกของปัญหาบัตรคอนเสิร์ตแพงคืออะไร’

.

ทางออกของปัญหานี้คงจะไม่ใช่ให้ สคบ. ช่วยติดต่อแก้ไขแน่ ๆ 

ดังที่เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ โลกทวิตเตอร์มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นอีกประเด็นหนึ่ง เมื่อมีผู้ใช้ทวิตเตอร์เล่าว่าตนและกลุ่มแฟนคลับอีก 2-3 คนได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจาก สคบ. ให้ช่วยแก้ปัญหาบัตรคอนเสิร์ตราคาแพง ทว่า สคบ. ได้ปฏิเสธ และชี้แจงว่าไม่สามารถควบคุมราคาของบัตรคอนเสิร์ตได้ 

.

แล้วสุดท้ายทางออกของปัญหานี้คือวิธีการใด? ใครบ้างที่จะต้องปรับ? ผู้จัดจะปรับลดราคา ปรับผังใหม่ เพิ่มสิทธิพิเศษให้สัมพันธ์กับบัตรคอนฯ ราคาแพงให้มากขึ้น หรือแฟนคลับแบบเรา ๆ จะต้อง ‘เท’ คอนเสิร์ตเองถ้าเห็นว่าราคาบัตรแพงเกิน? 

.

เนื้อหา : esther

พิสูจน์อักษร : อจลญา เนตรทัศน์ และ แพรพลอย นาเมืองรักษ์

ภาพ : ชนินท์ บุญเหลือง

.

อ้างอิง

จิรันธนิน ภูพนาแสง, ไขคำตอบ ทำไม ‘บัตรคอนเสิร์ต’ ถึงราคาพุ่งสูงปรี๊ด! ต้นตอมาจากเงินเฟ้อที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นหรือไม่? [ออนไลน์], 18 ตุลาคม2565. แหล่งที่มา https://thestandard.co/concert-ticket-inflation/