ไยคนมองหารักกันทำไม~ ทำไมคนโสดต้องรู้สึกผิดที่ตัวเองไม่มีคู่?

ไยคนมองหารักกันทำไม~ ทำไมคนโสดต้องรู้สึกผิดที่ตัวเองไม่มีคู่? 

.

ตั้งแต่ความเชื่อกรีกโบราณที่ว่าคนเราเดิมทีเกิดมาเป็นสองคนในร่างเดียวแต่ถูกทำให้แยกจากกัน จนถึงความเชื่อของคนจีนที่ว่าเราทุกคนมีด้ายแดงโยงใยเราเข้าไว้กับเนื้อคู่ สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเชื่อและคาดหวังว่าเราทุกคนต้องมีคู่ การไม่มีคู่เป็นความขาด ความไม่สมบูรณ์ หรือความล้มเหลวบางอย่างที่ต้องได้รับความเห็นใจ  ทว่าวิทยาศาสตร์ปัจจุบันยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเราทุกคนมี ‘ใครคนนั้น’ ที่รอเราอยู่จริง เช่นนั้นแล้วทำไมหลายอารยธรรมบนโลกถึงได้คลั่งไคล้เรื่องเนื้อคู่กันจัง? ทำไมคนโสดถึงถูกมองว่าด้อยกว่าคนมีคู่? หยุดฟังเพลงเศร้าแล้วแวะมาอ่านบทความเราแป๊บเดียว เดี๋ยวรู้เลย

.

ตอบแบบสั้น ๆ เลยว่า เราทุกคน ทั้งคนโสดและมีคู่ต่างมีความ ‘ขาด (lack)’ กันทั้งนั้น คนมีคู่แค่มีคู่รักเป็นสิ่งเบี่ยงเบนความรู้สึกขาดเพียงชั่วคราว แต่คนมีคู่ไม่ได้ถูกเติมให้เต็มไปกว่าคนโสดแต่อย่างใด และคนโสดเองก็มีวิธีเบี่ยงเบนความรู้สึกขาดนี้ด้วยวิธีอื่นเช่นกัน ฌาคส์ ลากอง (Jacques Lacan) นักจิตวิเคราะห์กล่าวว่า มนุษย์ทุกคนที่เข้าสู่พรมแดนแห่งสัญลักษณ์ (symbolic order) ซึ่งเป็นโลกแห่งการใช้ภาษา การสื่อสารระหว่างบุคคล และโลกที่ปกครองด้วยกฎระเบียบ ล้วนมีที่มาจากความขาดกันทั้งนั้น

เราตระหนักรู้ว่าตัวเองไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล เราจึงต้องสื่อสารกับผู้อื่นเพื่อเติมเต็มความรู้สึกขาดในใจตลอดเวลา ทั้งยังปรารถนา (desire) ที่จะเติมความขาดนี้ให้เต็ม แน่นอนว่าความใฝ่ฝัน (fantasy) ของมนุษย์แทบทุกคนคือการเติมเต็มความรู้สึกขาดนี้ได้อย่างถาวร อยากที่จะไม่ต้องการสิ่งใด ๆ อีกแล้ว เราจึงไขว่คว้าหาสรรพสิ่งที่จะทำให้เรารู้สึกไม่ขาด หรืออย่างน้อยก็มาเบี่ยงเบนความรู้สึกขาดในใจเราอยู่ตลอดเวลา

.

ถ้าทั้งคนโสดและคนมีคู่ต่างรู้สึกขาดทั้งคู่ แล้วทำไมคนมีคู่ถึงดูเหนือกว่าคนโสดล่ะ? นอกจากที่กล่าวไปข้างต้นว่าคนมีคู่ใช้คู่รักของตนเป็นสิ่งเบี่ยงเบนความรู้สึกขาดชั่วคราวแล้ว นักปรัชญาอย่างมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) เสนอว่าการแต่งงานเป็นอุดมคติของสังคมที่จะทำให้ประชาชนประพฤติตนอย่างที่คาดเดาได้ กล่าวคือ คนมีคู่มักจะตั้งใจทำงาน ใฝ่หาความก้าวหน้าทางอาชีพ เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว บริโภคมากกว่าตอนเป็นโสด และผลิตแรงงานป้อนตลาดมาทดแทนตนเองได้ในที่สุด การมีคู่ การแต่งงาน และการมีบุตรธิดาจึงมีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจและการเมืองดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น 

.

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ชนชั้นปกครองรวมถึงสังคมจึงสนับสนุนเชิงกดดันให้ทุกคนมีความรัก เพื่อที่ปลายทางจะได้กลายเป็นแรงงานที่ซื่อสัตย์ เพิ่มการบริโภคในครัวเรือน และผลิตทายาทออกมารับใช้ระบบเศรษฐกิจและระบอบการปกครองสืบไป ด้วยเหตุนี้ คนที่มีคู่ซึ่งถูกคาดหวังให้มีบุตรธิดาในอนาคตจึงได้รับการยกย่องเชิดชูเหนือคนโสด

.

แม้คนไม่เคยมีคู่จะรู้ทั้งรู้ว่าการมีคู่นั้นไม่ได้ราบรื่นเสมอไป ทั้งจากการสังเกตคนมีคู่รอบตัว จากการรับชมรายการปรึกษาปัญหาความรักที่มีอยู่เกลื่อนตามสื่อ จนถึงการได้ยินได้ฟังข่าวที่คนมีคู่ทะเลาะวิวาทกันขนานใหญ่ ฟ้องร้องแย่งทรัพย์สินกัน ทำร้ายร่างกายและจิตใจอีกฝ่าย แต่แล้วทำไมเรายังไขว่คว้าหารักกัน? 

.

ซารา อาเหม็ด (Sara Ahmed) นักปรัชญาสตรีนิยมได้บัญญัติศัพท์ ‘สคริปต์ความสุข (happiness script)’ ขึ้นมา เธอให้ความหมายว่าเป็นสคริปต์ที่สังคมบอกเราว่าต้องดำเนินชีวิตอย่างไรจึงจะเรียกว่ามีความสุข แน่นอนว่าการมีคู่สมรส มีลูก 2.1 คน  (หากยึดตามจำนวนเฉลี่ยของบุตรที่จะสามารถทดแทนแรงงานพ่อแม่ได้) ก็เป็นส่วนหนึ่งของสคริปต์นั้น ที่กล่อมให้เราเชื่อว่าการแต่งงานจะเยียวยาทุกสิ่ง เป็นความสุขนิรันดร์ ครอบครัวรักใคร่กลมเกลียว เมื่อคนในสังคมเชื่อสคริปต์ที่ว่านี้ เราจึงต่างไขว่คว้าหาคนรักกัน แม้ว่าจะต้องลดมาตรฐานคู่รักในใจเราไปบ้าง แต่เราก็ยอมแลกเพื่อที่จะได้มีความสุขตามที่สคริปต์ข้างต้นสัญญาไว้

.

ในบางครั้งการมีความรักทำให้เราทุกข์มากกว่าตอนเป็นโสดด้วยซ้ำ แต่คนก็ยังยอมทนเพราะเชื่อว่าสักวันความสุขจะมาถึงหากเรายังเล่นตามสคริปต์นี้อยู่ นักวิจารณ์วรรณกรรมและวัฒนธรรมชื่อดังอย่างลอเรน เบอร์แลนต์ (Lauren Berlant) เรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ‘การมองโลกในแง่ดีที่แสนร้าย (cruel optimism)’ มองว่าชีวิตที่เป็นทุกข์จะนำไปสู่ความสุขในภายภาคหน้า โดยที่ไม่ตระหนักว่าตนเองเข้าใจผิดว่าชีวิตที่แย่เป็นชีวิตที่ดี เป็นชีวิตที่ถูกที่ควรแล้ว ยอมทนกับคู่รักที่ทำร้ายตัวเองทั้งกายใจเพราะหวังว่าในสักวันคู่รักของเราจะดีขึ้น แล้วจะได้สัมผัสกับความสุขอันเป็นนิรันดร์ในที่สุด

.

ในปัจจุบัน คนโสดมีจำนวนมากขึ้นด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น การศึกษาซึ่งทำให้ผู้หญิงมีอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งสามีอย่างในอดีต เงินเฟ้อที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถซื้อชีวิตคู่ไหว รวมถึงการใส่ใจสุขภาพจิตส่วนตัวที่ทำให้ผู้คนมุ่งไปที่การรักตัวเอง อยู่ด้วยตัวเองให้ได้มากกว่าที่จะไปพึ่งพาการเยียวยาจากผู้อื่น ชีวิตของเรามีหลายแง่มุม การเรียน การงาน การเงิน สุขภาพกายใจ งานอดิเรก เพื่อนฝูง ครอบครัว สัตว์เลี้ยง ท่องเที่ยว และอีกมากมาย 

.

คนโสดที่คุณเห็นอาจเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับแง่มุมอันหลากหลายในชีวิตมากกว่าความรักแบบโรแมนติก หากเราเลิกเพ่งมองสคริปต์ความสุขที่คนในสังคมยัดใส่มือเรา แล้วมองโลก มองผู้คนอย่างเข้าใจ คุณจะเห็นว่าคนโสดหลายคนมีความสุขได้โดยไม่ต้องมีคู่ เพราะเราเกิดมาตัวคนเดียว ถ้าอยากได้ความสุขจากใคร คนแรกที่จะให้เราได้ก็คือตัวเราเอง

.

“This is why I’m not sure it’s accurate to believe that romance, or even love, is an essential ingredient of the good life. It seems to me that there are many other things that bring satisfaction, enrich our existence, much more reliably.” – Mari Ruti

.

เรื่อง : ดุสิต บริสุทธิ์

พิสูจน์อักษร : พิมพ์พิชชา เต็งต้นวงศ์ และ ธมนวรรณ ฟักเล็ก

ภาพ : อภิชญา ยอดนิล

อ้างอิง

Ruti, M. (2016). Feminist Film Theory and Pretty Woman. Bloomsbury Academic. 

Ruti, M. (2018). Penis Envy and Other Bad Feelings: The Emotional Costs of Everyday Life. Columbia University Press.