คนหูหนวก-ภาษามือ : ผู้คนและภาษาที่เปี่ยมด้วยชีวิต
.
For your information
“คนหูหนวก” เป็นคำที่สามารถใช้เรียกผู้ที่มีความพิการทางการได้ยินโดยทั่วไป เพราะคนหูหนวกก็ใช้คำนี้เรียกตนเอง และใช้คำว่า “คนหูดี” เรียกผู้ที่ไม่มีความพิการทางการได้ยินด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรเรียกคนหูหนวกว่า “คนใบ้” เพียงเพราะพวกเขาไม่เคยได้ยินเสียง ไม่ได้แปลว่าพวกเขาไม่มีเสียง
.
(ข้อความในส่วนนี้ใช้ไวยากรณ์ภาษามือ)
“ฉันโครงการจิตอาสาทำงานอยู่ วันนี้ ฉันทำงานไปอีกครั้ง ตอนเช้าหกโมงครึ่ง ฉันตื่นนอน ฉันห้างสรรพสินค้านั่งรถไฟฟ้าไป วันนี้ งานโชว์เคสของโครงการมี ห้างสรรพสินค้า น้องหูหนวกโชว์ มีเครื่องดื่มชง เต้น ถ่ายรูป อาหารทำ ทุกคนตื่นเต้นมาก ฉันเพื่อน ๆ ช่วยทำงาน มาร่วมงานคนตื่นเต้น ทุกคนอาหารเดินดู เครื่องดื่มเดินดู ซื้อ น้องหูหนวกอาหารทำ คนหูดีคิด คนหูหนวกเสียงไม่ได้ยิน สื่อสารไม่ได้ คุยยาก คนหูหนวกไม่คุย ที่นี่ คนหูดี พยายามภาษามือใช้ อาหารเครื่องดื่มสั่ง งานมาคนมีความสุข ตอนบ่าย น้องหูหนวกโชว์มี 4 เพลง น้องหูหนวกเต้น คนสงสัย น้องหูหนวกเสียงเพลงได้ยินไม่ ทำไมเต้นได้ ทุกคนคิด น้องหูหนวกเก่งมาก ที่นี่สนุกมาก ฉันดวงตาของน้องหูหนวกมอง น้องหูหนวกมีความสุข ฉันมีความสุข…”
.
เช่นเดียวกับคนหูดี คนหูหนวกสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง ซื้อสินค้า อาหารและบริการต่าง ๆ รวมไปถึงการละเล่นและชมภาพยนตร์ด้วย คนหูหนวกไม่ได้มีความยากลำบากมากนักในการสื่อสารภายในพื้นที่เหล่านี้ เพราะการซื้อสินค้าและอาหารนั้นต่างก็มีป้ายเขียนอธิบายไว้ ในส่วนของการชมภาพยนตร์เองก็มีบทบรรยาย และคนหูหนวกเองก็สามารถอ่านและเข้าใจรูปประโยคภาษาไทยที่ไม่ได้มีความซับซ้อนมากนักได้ อุปสรรคที่แท้จริงของคนหูหนวกคือปัญหาในการสื่อสารเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะหรือเมื่อใช้บริการใดบริการหนึ่งมากกว่า
.
เพราะในพื้นที่สาธารณะนี้อาจเกิดการกีดกันคนหูหนวก หรือทำให้พวกเขารู้สึกแตกต่าง ซึ่งเกิดจากทั้งความตั้งใจและไม่ตั้งใจของคนในสังคม หลายครั้งที่คนหูดีมักหลีกเลี่ยงการสนทนากับคนหูหนวก เพราะไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่พวกเขาต้องการจะสื่อสาร และรู้สึกว่าการพูดคุยเป็นเรื่องยาก ใครหลายคนจึงอาจไม่เคยสัมผัสกับโลกของคนหูหนวก และอาจทำให้คนหูหนวกไม่รู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้เลยเช่นกัน
.
เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ยินเสียง การสื่อสารเกือบทั้งหมดของคนหูหนวกจึงเป็นภาพที่ถ่ายทอดออกมาผ่านมือ นิ้ว การเคลื่อนไหว จังหวะ และสีหน้า ภาพของความเงียบงันที่กำลังฉายอยู่นี้จึงไม่ต่างจากละครเรื่องเล็ก ๆ มากนัก หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปก็จะทำให้อารมณ์หรือการสื่อสารไม่สมบูรณ์
.
ในความเป็นจริงแล้ว ‘ภาษามือ’ นั้นไม่ต่างไปจากภาษาอื่น ๆ บนโลกมากนัก ถึงแม้ว่าจะสามารถอิงคำศัพท์จากภาษาไทยได้บางส่วน ตัวอย่างเช่น คำว่า สีเหลือง ก็ทำมือเป็นตัวอักษร ล.ลิง หรือคำว่า วันจันทร์ ก็ทำมือเป็นคำว่า วัน แล้วตามด้วย จ.จาน แต่ภาษามือเองก็มีไวยากรณ์เป็นของตนเองเช่นกัน
.
การจะเข้าใจภาษามือก็ไม่ต่างจากการเรียนรู้ภาษาอื่น ๆ ที่ผู้เรียนต้องเข้าใจในวัฒนธรรมของคนที่ใช้ภาษานั้นด้วย หากเราสังเกตดูก็จะพบว่าในบางวัฒนธรรมของคนหูหนวกนั้นแตกต่างไปจากวัฒนธรรมหลักของสังคมเล็กน้อย เช่น ในประเทศไทย คนหูดีอาจจะถือว่าการสะกิดเป็นสิ่งที่ไม่สุภาพและไม่ควรทำ เพราะถือว่าเป็นการแตะต้องร่างกายของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม แต่สำหรับคนหูหนวกแล้ว การสะกิดถือเป็นวิธีการเรียกคนหูหนวกวิธีหนึ่งซึ่งสามารถทำได้ และไม่ถือว่าเสียมารยาท
.
แม้วิธีที่จะเข้าใจวัฒนธรรมของผู้อื่นได้ดีที่สุดก็คือการเปิดใจและเข้าไปอยู่ในโลกของเขา แต่ปัญหาที่ทำให้โลกของคนหูหนวกและคนหูดีไม่ค่อยมีโอกาสได้มาบรรจบกันก็คือ คนหูดีหลายคนไม่กล้าเข้าหาคนหูหนวกเพราะกลัวกำแพงภาษา
.
ในห้องมีเสียงหัวเราะหรือเสียงอุทานออกมาเป็นระยะ บ่งบอกให้รู้ว่ามีคนอยู่ในห้องนั้นจำนวนหนึ่ง ภาพเหตุการณ์มากมายกำลังถ่ายทอดออกมาผ่านทางมือและแขนทั้งสอง นิ้วทั้งสิบ และกล้ามเนื้อหลายมัดบนใบหน้า กระต่ายแครอทแทะกิน วัว ต้นหญ้ากำลังโต กิน เคี้ยวเอื้อง เรื่องราวเหล่านี้เสริมแต่งให้ภายในห้องอบอวลไปด้วยความสนุกสนานชวนตื่นเต้น พวกเขากำลังเล่านิทานด้วยภาษามือ
.
ถึงจะบอกว่าภาษามือมีคำศัพท์และไวยากรณ์เป็นของตนเอง แต่คำศัพท์จำนวนมากก็ล้วนเป็นภาพที่มาจากสิ่งที่เราพบเจอได้จริงในชีวิตประจำวัน หากจะเปรียบเป็นการเล่นทายคำจากท่าทางก็คงจะเข้าใจมากขึ้น ดังนั้นจึงไม่เป็นการยากนักที่คนหูดีจะสามารถเข้าใจคนหูหนวกได้
.
กลับกัน ถึงแม้ว่าคนหูหนวกจะอาศัยการอ่านและการทำความเข้าใจประโยคภาษาไทยเวลาชมภาพยนตร์หรือสื่อบันเทิง แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะสามารถเข้าถึงความบันเทิงได้ทุกอย่างตามที่ใจปรารถนา คนหูหนวกยังคงมีอุปสรรคในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานและการได้รับสิทธิต่าง ๆ ที่คนหูดีอาจไม่เคยนึกถึงมาก่อน อย่างการเข้าถึงการรักษาพยาบาลซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก เพราะไม่สามารถสื่อสารกับแพทย์ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
.
เมื่อมองไปรอบตัว เราอาจจะพบว่าสังคมที่กำลังอาศัยอยู่ไม่ได้โอบรับคนหูหนวกเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกันมากสักเท่าไร เราทุกคนรู้กันดีว่าใครหลายคนรอบตัวที่เดินอยู่ในพื้นที่เดียวกันอาจเป็นคนหูหนวก แต่เราหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าข้อมูลข่าวสารและการมีส่วนร่วมในสังคมของพวกเขาในตอนนี้เป็นอย่างไร
เราเคยเห็นนักสิ่งแวดล้อมที่เป็นคนหูหนวกหรือไม่?
เราคิดว่าคนหูหนวกจะสามารถรับรู้ถึงสัญญาณเตือนภัยได้อย่างไร?
เราคิดว่าในการเลือกตั้งที่ผ่านมา คนหูหนวกได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน?
เราคิดว่าคนหูหนวกมีจินตนาการต่อความฝันและอนาคตของตนเองมากน้อยเพียงใด?
และเราคิดว่าหากคนหูหนวกสามารถเข้าถึงความบันเทิงและข้อมูลข่าวสารที่มากกว่าช่องสี่เหลี่ยมอันจิ๋วบนขอบจอโทรทัศน์ได้ โลกของพวกเขาจะเปี่ยมไปด้วยสีสันแห่งชีวิตมากแค่ไหนกัน?
เนื้อหา : ภราดร สุขพันธ์
พิสูจน์อักษร : ชามา หาญสุขยงค์ และ วิสุทธิ์ ปัญญวรญาณ
ภาพ : พัช ไชยเวช
ขอบคุณผู้ช่วยตรวจแก้ไขความถูกต้องของเนื้อหาและไวยากรณ์ภาษามือ ได้แก่
นางสาวอริญชยา รัตนนันท์ธกรณ์
นางสาววิระยา ผ่องใส
นางสาวพัชชา ตันธนวิชญะ
นางสาววิมลศรี จินดานุ