ชวนตกตะกอนความคิดระหว่างรอลิฟต์กำลังซ่อม : สรุปลิฟต์อาจารย์ยังจำเป็นอยู่ไหม?
.
“เรียน คณาจารย์และบุคลากรทุกท่าน
เนื่องจากลิฟต์โดยสารฝั่งนิสิต 1 ตัวมีปัญหา ต้องใช้เวลาในการรออะไหล่จากต่างประเทศ เพื่อติดตั้งซ่อมแซม ในช่วงนี้จึงจะขออนุญาตให้นิสิตร่วมใช้ลิฟต์ฝั่งคณาจารย์ด้วย ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้ และขอขอบพระคุณทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง”
.
หากนิสิตอักษรศาสตร์ท่านใดมีโอกาสได้ใช้ตึกบรมราชกุมารีในภาคการศึกษานี้ คงได้เห็นป้ายดังกล่าวที่ติดหน้าลิฟต์ทั้งสองฝั่งผ่านตามาบ้าง ในฐานะที่ผู้เขียนประสบกับการใช้ลิฟต์ทั้งในสมัยที่แบ่งแยกว่าฝั่งนี้เป็นลิฟต์ของนิสิต ส่วนฝั่งนี้เป็นลิฟต์ของอาจารย์ และในขณะปัจจุบันที่อาจารย์ นิสิต และบุคลากรใช้ลิฟต์ทั้งสามตัวร่วมกัน ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามในทุกวันที่ขึ้นลงลิฟต์ว่า “แล้วสรุปลิฟต์อาจารย์ยังจำเป็นอยู่ไหม” หรือแม้แต่ตั้งคำถามว่า “ลิฟต์อาจารย์เกิดขึ้นมาได้อย่างไรตั้งแต่แรก มีเหตุผลอะไรที่ต้องแบ่งแยกกันเช่นนี้” ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็หาคำตอบที่ตนพึงพอใจไม่ได้ หรือถึงแม้หาได้ ผู้เขียนก็มั่นใจว่าลำพังเสียงของตัวเองคนเดียวคงทำอะไรไม่ได้ ระหว่างที่เรากำลังรออะไหล่จากต่างประเทศอยู่นี้ ผู้เขียนจึงอยากชวนนิสิตอักษรฯ ทุกท่านตั้งคำถามกับการมีอยู่ และอนาคตของลิฟต์อาจารย์ว่า “สรุปแล้ว ลิฟต์อาจารย์ยังจำเป็นอยู่หรือไม่”
.
เนื่องจากปัญหาเรื่องการแบ่งลิฟต์เป็นปัญหาที่ผู้เขียนให้ความสนใจ และขบคิดมาสักพักใหญ่แล้ว จึงเป็นธรรมดาที่ผู้เขียนจะสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลิฟต์ และผู้เขียนต้องขอบอกว่าตลอดระยะเวลา 4 ปีในคณะอักษรฯ ไม่มีวันใดที่ผู้เขียนรู้สึกถึงความจำเป็นในการตั้งคำถามกับประเด็นการแบ่งแยกลิฟต์มากเท่ากับวันแรกของภาคการศึกษาที่ผ่านมา วันเปิดภาคเรียนที่นิสิตอักษรฯ รุ่นใหม่ได้มาเรียนที่คณะครั้งแรก นิสิตอักษรฯ รุ่นปัจจุบันได้เจอหน้าเพื่อนและอาจารย์หลังปิดเทอมใหญ่ สิ่งแรกที่ต้อนรับพวกเราคือป้ายสีชมพูที่เขียนตัวหนาติดหน้าลิฟต์ซึ่งกล่าวถึงเหตุจำเป็นที่ลิฟต์โดยสารฝั่งนิสิตมีปัญหาและ ‘ขออนุญาต’ ให้นิสิตใช้ลิฟต์ร่วมกับคณาจารย์ (ดังข้อความที่ผู้เขียนใช้เกริ่นนำ) พร้อมกับข้อความเพิ่มเติมว่า
.
“ทั้งนี้ ได้ประสานทาง ก.อศ. เพื่อขอความร่วมมือให้นิสิตสวมหน้ากากอนามัย และรักษามารยาทในการใช้ลิฟต์ร่วมกันแล้ว”
.
จะด้วยความผิดพลาดหรือตั้งใจ ผู้เขียนมิอาจทราบถึงเจตนาของผู้ติดประกาศฉบับนี้ได้แน่ชัด สิ่งเดียวที่ผู้เขียนแน่ใจคือกระดาษแผ่นนี้ได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นแล้วว่า ‘เรื่องลิฟต์’ ไม่ใช่ ‘เรื่องเล็ก’ ลิฟต์ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่เครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคน (ตามที่ควรจะเป็น) แต่ในอาคารแห่งนี้ ลิฟต์กลับทำหน้าที่กำหนดและกีดกันสิทธิ ว่าผู้มีสถานะนิสิตหรืออาจารย์ มีลักษณะนิสัยอย่างไร และสามารถทำอะไรได้มากน้อยเท่าไหร่ ทั้งยังเป็นเครื่องสะท้อนชุดความคิดที่คณะผู้บริหารก็ดี ฝ่ายอาคารก็ดี มองและควบคุมนิสิต ด้วยเนื้อความในกระดาษแผ่นนี้ ผู้เขียนคงมิอาจคิดเป็นอื่นได้นอกจากตั้งคำถามว่า “สุดท้ายแล้ว เหตุที่ลิฟต์นิสิตถูกแบ่งแยกจากลิฟต์อาจารย์เป็นเพราะพวกเราเป็นกลุ่มคนที่ ‘ไม่มีมารยาท’ จริงหรือ?” ผู้เขียนได้แต่หวังว่าจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะคงจะเป็นเรื่องน่าผิดหวังอย่างมาก หากภายในอาคารที่นิสิตใช้เพื่อร่ำเรียน และถกเถียงเรื่องสิทธิมนุษยชน อภิสิทธิ์ชน ฯลฯ จะเกิดการเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม และสร้างภาพลักษณ์เหมารวมกล่าวตำหนินิสิตเสียเอง ส่วนเรื่องที่ว่าเนื้อความส่วนดังกล่าวได้รับการแก้ไขไปตั้งแต่ตอนไหน ผู้เขียนเองก็มิอาจทราบได้เช่นกัน ได้แต่ขอบคุณผู้ที่ทักท้วง และดำเนินการแก้ไขข้อความนี้ในใจ ที่ไม่ปล่อยให้กระดาษแผ่นนั้นส่งต่อชุดความคิดบิดเบี้ยวดังกล่าวนานไปกว่านี้
.
อีกประเด็นที่ควรนำมาพิจารณาไม่แพ้กันคือจำนวนระหว่างนิสิตและอาจารย์ ซึ่งส่งผลต่อความจำเป็นในการใช้ลิฟต์ ผู้เขียนเชื่อว่าคงไม่จำเป็นต้องพูดสิ่งใดให้มากความ เมื่อต้องการกล่าวถึงความอึดอัดของการยืนรอลิฟต์ที่ตึกบรมฯ เวลา 13 นาฬิกา ภาพแถวยาวเฟื้อยเลยมาถึงบันได และคนจำนวนมหาศาลที่เบียดเสียดพยายามยัดตัวเองเข้าไปในลิฟต์ก็คงลอยเข้ามาในหัวผู้อ่านโดยอัตโนมัติ เป็นเรื่องธรรมดาที่การรอคิวนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อไม่ได้เผื่อเวลามาก่อน คำถามที่น่าสนใจคือเหตุใดนิสิตจำนวนหลักร้อยจึงต้องมากระจุกใช้ลิฟต์จำนวน 2 ตัว และเหตุใดเราทุกคนถึงแบ่งกันใช้ลิฟต์จำนวน 4 ตัวเหมือนที่เราทำกันอยู่ตอนนี้ไม่ได้? และยิ่งไปกว่านั้น “เหตุใดเราจึงต้องขึ้นลิฟต์ฝั่งนิสิต แม้ห้องเรียนของเราจะอยู่ติดลิฟต์ฝั่งอาจารย์—เพียงเพื่อรักษากฎที่ฝ่ายบริหารเขียนขึ้นมาเท่านั้นหรือ?”
.
หลายคำถามผุดขึ้นมาในหัวของผู้เขียน คำถามแล้วคำถามเล่า ผู้เขียนก็ยังไม่พบคำตอบที่มีเหตุมีผลและน่าพึงพอใจ ซึ่งอาจย้อนกลับไปสู่พื้นฐานของความเป็นจริงที่ว่า หลายครั้ง ระบบและสถานที่ในมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการ และสร้างความ ‘พึงพอใจ’ ให้แก่นิสิตตั้งแต่แรก ดังนั้น ผู้เขียนจึงคิดว่าคำถามที่น่าสนใจที่สุดจากประเด็นนี้ที่เราทุกคนควรตอบได้ คือ “แล้วจะทำอย่างไรกับสิ่งนี้ต่อไป?—เมื่ออะไหล่จากต่างประเทศเดินทางมาถึงและลิฟต์ซ่อมเสร็จแล้ว คณะอักษรศาสตร์จะยังมีลิฟต์ฝั่งอาจารย์และลิฟต์ฝั่งนิสิตเหมือนก่อน หรืออาจพัฒนาไปเป็นลิฟต์ฝั่งเหนือและลิฟต์ฝั่งใต้? นิสิตอักษรฯ จะปล่อยให้ทุกอย่างกลับมาเป็นเหมือนเดิมหรือลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงระบบนี้?”
.
ผู้เขียนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า คณะเราไม่ได้เป็นคณะเดียวที่เผชิญกับปัญหานี้ หรือเล็งเห็นว่าสิ่งนี้เป็นปัญหา การลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ลุกขึ้นมาแสดงจุดยืน และลุกขึ้นมาสร้างแรงกระเพื่อมในระบบอำนาจนิยมจึงสำคัญในการคัดเลือกคัดออกชุดความคิด และกฎระเบียบที่กดทับอย่างไม่เป็นธรรมเช่นนี้ ไม่ว่าเรื่องดังกล่าวจะเป็นเรื่องใหญ่โตระดับโครงสร้าง หรือเรื่องเล็ก ๆ ที่ไม่เล็กอย่างเรื่องลิฟต์ในคณะ ในวันนี้ที่เรากำลังรอฝ่ายอาคารซ่อมแซมลิฟต์ 1 ตัว และได้เผชิญกับเวลาที่คณาจารย์ นิสิต และบุคลากรใช้ลิฟต์ร่วมกัน ผู้เขียนคิดว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่นิสิตอักษรฯ ทุกคนจะได้ตั้งคำถามกับสัญลักษณ์ของการกดทับที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันว่า “สรุปลิฟต์อาจารย์ยังจำเป็นอยู่ไหม”
#เรื่องลิฟต์ไม่ใช่เรื่องเล็ก #อักษรจุฬาต้องไม่มีลิฟต์อาจารย์
.
เนื้อหา : TK
พิสูจน์อักษร : พรรวษา เจริญวงศ์ และ ธวัลพร พูลเพิ่ม
ภาพ : ศวิตา สุรฤทธิพงศ์