ตกตะกอนความคิดจิตร ภูมิศักดิ์ แม้จิตรจะจรจาก แต่จิตวิญญาณยังคงอยู่
.
“ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้นผืนฟ้า มืดดับเดือนลับมลาย
ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน”
.
คำประพันธ์ดังกล่าวมาจากบทเพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ แม้นอ่านแล้วจะดูเป็นเนื้อหาที่ไม่ได้ห่างไกลจากความเป็นจริงที่เราเคยสัมผัสเมื่อช่วงไม่นานมานี้มากนัก แต่แท้จริงแล้ว บทเพลงนี้แต่งขึ้นโดย ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ขณะถูกคุมขังอยู่ที่คุกลาดยาว ในปี พ.ศ. 2503-2505 ทุกถ้อยคำที่สละสลวยงดงาม และสื่อถึงความหมายอันขมขื่นอย่างลุ่มลึกนั้นเกิดขึ้นมานานกว่า 64 ปีแล้ว และคงไม่แปลก หากใครหลายคนเคยพบเห็นคำประพันธ์นี้มาก่อน เพราะผลงานรวมถึงบทประพันธ์มากมายของจิตร ภูมิศักดิ์เป็นที่พูดถึงเป็นอย่างมากในช่วงกระแสการชุมนุมประท้วงในปี พ.ศ. 2563 แล้วบุคคลที่ชื่อ ‘จิตร’ เป็นใครกัน? และ ‘จิต’ วิญญาณของเขายังคงอยู่ในความคิดจิตใจคนรุ่นใหม่อยู่หรือไม่?
.
25 กันยายน พ.ศ. 2473 เด็กผู้ชายที่มีชื่อว่า ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ได้ลืมตาดูโลกใบนี้เป็นครั้งแรก จิตรเกิดที่อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี ก่อนที่จะย้ายไปเรียนต่อในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตามจังหวัดต่าง ๆ ที่พ่อไปทำงานรับราชการ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดกาญจนบุรี สมุทรปราการ และพระตะบอง ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เขาเข้าศึกษาในโรงเรียนวัดเบญจมบพิตรและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2493
ได้เข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
.
หากจะพูดกันอย่างเข้าใจง่าย เขาคือ ‘เด็กเนิร์ด’ คนหนึ่ง ที่ศึกษา อ่านหนังสือ ค้นคว้าเรื่องราวและศาสตร์มากมาย ทั้งภาษาศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวรรณคดี อาจกล่าวได้ว่า ความเนิร์ดของจิตรนี้มีมาตั้งแต่เยาว์วัย ก่อนที่เขาจะเข้าศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์เสียด้วยซ้ำ เพราะช่วงมัธยมเขาชอบอ่านหนังสือจำพวกพงศาวดาร ตำนานอักษรไทย และโบราณวัตถุเป็นอย่างมาก รวมถึงยังเก็บเกี่ยวประสบการณ์ผ่านการเขียนบทความลงในหนังสือและวารสารต่าง ๆ เช่น ‘ปาริชาติ’ ‘วงวรรณคดี’ และ ‘วิทยาสาร’ จนในปี พ.ศ. 2490 จิตรได้เขียนเรื่อง ‘กำเนิดลายสือไทย’ ลงในหนังสือเยาวศัพท์ของคณะสมาคมนักเรียนแห่งประเทศไทย
.
ในวงการวิชาการ อาจนับได้ว่าจิตรเป็นนักคิด-นักเขียนคนแรก ๆ ที่กล้าคิด กล้าถกเถียง กล้าวิพากษ์เรื่องราวต่าง ๆ ในสังคมด้วยวิธีคิดที่แปลกใหม่และต่างออกไปจากเดิม รวมถึงมีท่วงทำนองการเขียนที่ลึกซึ้งและงดงาม ในที่นี้จะขอยกตัวอย่าง 2 ผลงาน ผลงานแรกคือ ‘ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน’ หนังสือเล่มนี้อธิบายว่าศิลปะเพื่อชีวิตคืออะไร และเสนอแนวคิดที่ว่าศิลปะต้องรับใช้ประชาชน (ผู้ถูกกดขี่) จนต่อมางานเขียนชิ้นนี้นำไปสู่การวิพากษ์งานศิลปะทุกแขนง โดยเฉพาะงานวรรณคดีและวรรณกรรม ทำให้ผู้คนมากมายเล็งเห็นว่า ณ เวลานั้น วรรณคดีทรงคุณค่าส่วนใหญ่มักมุ่งเน้นไปที่การรับใช้ชนชั้นปกครอง แต่ในขณะเดียวกันกลับพูดถึงประชาชนน้อยมาก แนวคิดนี้ยังเป็นแนวคิดหนึ่งที่ใช้ในการชุมนุมของนักศึกษาช่วงปี พ.ศ. 2516-2519 ทำให้หนังสือดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์กับรัฐไทยอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ทหารเรืองอำนาจทางการเมือง จึงไม่แปลกเลยหากหนังสือเล่มนี้ที่รวมเล่มสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2500 จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกจับเข้าคุกลาดยาวในข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ภายใต้รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (หลังการทำรัฐประหารจอมพลป.พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501)
.
ผลงานที่สองคือหนังสือที่มีชื่อว่า ‘ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ’ หนังสือดังกล่าววิเคราะห์เกี่ยวกับความเป็นมาของชื่อชนชาติสยาม ไทย ลาว และขอม เป็นบทวิเคราะห์ทางนิรุกติศาสตร์และภาษาศาสตร์สังคม จิตรเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยมุมมองที่มิได้มองชาติไทยเป็นประเทศตามขอบเขต เขตแดน และแบ่งแยกกับเพื่อนบ้านชัดเจนด้วยเส้นแบ่งอาณาเขตตามที่รัฐชาตินิยมในสมัยนั้นต้องการ แต่เป็นมุมมองที่มองภาพรวมว่าทั้งไทยและเพื่อนบ้านนั้นเกี่ยวข้องกัน มีที่มาที่ไปร่วมกันมาก่อน
.
จากความคิดที่ดูสมัยใหม่ ล้ำสมัย และเป็นสิ่งใหม่อย่างมากในสมัยนั้น นำมาสู่จุดจบอันไม่น่าอภิรมย์ของชีวิต หลังออกจากคุก จิตรเดินทางไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ดงพระเจ้า และในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 เขาถูกล้อมยิงเสียชีวิตที่ชายป่านอกหมู่บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร การจบชีวิตในแบบที่ไร้ซึ่งความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์เช่นนี้เกิดขึ้นเพราะว่าจิตรไม่ได้เป็นนักวิชาการ นักคิด นักเขียน และประชาชนในรูปแบบที่รัฐต้องการให้เป็น อาจตรงกับคำกล่าวของ ‘นุตง’ ในรายการ People You May Know EP. 9 ที่กล่าวว่า “เรื่องจิตรเป็นสภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออกของคณะอักษรศาสตร์ คือก็อยากจะกลืนนะ อยากจะยอมรับได้เต็มปากว่าเขาเป็นบัณฑิตที่เก๋โก้ ฉลาดเหลือเกิน เพราะผลงานทางวิชาการของเขามันมีคุณูปการอย่างมากต่อภาษาศาสตร์ ต่อสังคมศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกัน การใช้ชีวิตของจิตรน่ะไม่ใช่บัณฑิตในพระปรมาภิไธยที่ดี” (นาทีที่ 22.42) หากมองดูชีวิตของจิตรแล้ว การดำเนินชีวิตของเขา มิใช่เพียงไม่ตรงตามความต้องการและความคาดหวังของคณะอักษรศาสตร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงรัฐไทยด้วยเช่นกัน
.
อย่างไรก็ตาม จิตวิญญาณในความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะศึกษาอย่างลุ่มลึกในสิ่งที่สนใจ รวมถึงจิตวิญญาณของการขบคิดตั้งคำถาม กล้ามองสังคมในเลนส์ที่แตกต่างและมุมมองที่หลากหลาย ได้ก่อเกิดขึ้นแล้วในสำนึกของคนไทยยุคปัจจุบันไม่มากก็น้อย แม้คนหลายคนจะมิได้รู้จักว่า ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ เป็นใคร และแม้ ‘จิตร’ จะจรจากพวกเราไปนานแสนนาน แต่อาจกล่าวได้ว่า ‘จิตของจิตร’ นั้นได้ก่อเกิดขึ้นใหม่ในใจคนแล้ว
.
อ้างอิง
คลังความรู้ภาควิชาภาษาไทย, คลังข้อมูลบรรณานุกรมจิตร ภูมิศักดิ์ [ออนไลน์], 11 มีนาคม 2021. แหล่งที่มา https://www.arts.chula.ac.th/.../index.../2021/03/11/407/...
ณัฐนันท์ เฉลิมพนัส, ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ ในวันที่ดวงอาทิตย์เริ่มอ่อนแรง ดวงดาวจะยังคงเปล่งแสงแห่งความหวัง [ออนไลน์], 18 ธันวาคม 2020. แหล่งที่มา https://thestandard.co/starlight-of-faith/
บันทึก 6 ตุลา - Documentation of Oct 6, 1. ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน โดย ทีปกร [ออนไลน์], 23 กันยายน 2021. แหล่งที่มา https://www.facebook.com/.../a.12063.../4579709865421132/...
มนตรา ลึกลับ ตรึงขึง จิตร ภูมิศักดิ์ ส่งผล สะเทือน [ออนไลน์], 16 - 22 สิงหาคม 2024. แหล่งที่มา
https://www.matichonweekly.com/column/article_790986
วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์, 91 ปี ชาตกาล จิตร ภูมิศักดิ์ กับ ‘การกระทำอันเป็นราษฎร’ [ออนไลน์], 25 กันยายน 2021. แหล่งที่มา https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/100510
FAROSE, PYMK EP9 จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนที่รัฐไม่ต้องการ [ออนไลน์], 9 ธันวาคม 2020. แหล่งที่มา https://www.youtube.com/watch?v=1Cv0MzSB5mA...
.
เนื้อหา : สหายแซ่แผ่ (ติวต้น แผ่ธนกิจ)
พิสูจน์อักษร : นิชนันท์ และ วิสุทธิ์
ภาพ : มอนอ