ห้องบอลรูม
พื้นที่ปลอดภัยของเพศหลากหลาย สู่วัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าในปัจจุบัน
.
อย่างที่หลาย ๆ คนทราบว่าประเทศไทยนั้นเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศ ดังจะเห็นได้จากสื่อต่าง ๆ อย่างซีรีส์ นิยาย หรือจากการที่ดาราที่เป็นเพศหลากหลายได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย
.
วันนี้อักษรสาราจึงขอนำเสนอวัฒนธรรมที่มีความน่าสนใจทั้งในด้านประวัติศาสตร์และศิลปะ อันเป็นความสำเร็จของกลุ่มเพศหลากหลายในอดีตที่ส่งต่อมายังปัจจุบันอย่าง ‘Ballroom Culture’ (วัฒนธรรมบอลรูม) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่คนไทยน้อยคนนักจะรู้จักและให้ความสนใจ
.
เรื่องราวเหล่านี้ได้ถูกนำมาตีแผ่ผ่านสารคดีชื่อดังอย่าง ‘Paris is Burning’ (1990) ที่สะท้อนสังคมของชาว LGBTQ+ ในสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็น การใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ กิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในบอลรูม ไปจนถึงการเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยกันเอง
.
แล้ว Ballroom Culture คืออะไร?
วัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นในยุค 80 ซึ่งเป็นยุคที่คนเริ่มแสดงตัวตนว่ารักชอบเพศเดียวกัน หรือแต่งกายตรงข้ามกับเพศสภาพของตนเองมากขึ้น แน่นอนว่า ณ ช่วงเวลานั้น กลุ่มเพศหลากหลายยังไม่ได้รับการยอมรับจากคนทั่วไป ทำให้เกิดการแบ่งแยกหรือกดขี่คนกลุ่มนี้ขึ้น ในสมัยนั้น พวกเขาจึงสร้างพื้นที่ที่เป็นเหมือนแหล่งรวมตัวของชนกลุ่มน้อย และแบ่งปันพื้นที่ปลอดภัยนี้ให้แก่กันและกันโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ แต่หวังเพียงเพื่อสร้างรากฐานแห่งความสุขในฐานะ ‘คน’ ด้วยกัน
.
เมื่อพูดถึง Ballroom Culture นอกจากการเป็นพื้นที่ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศแล้ว สิ่งที่เราจะสามารถเห็นได้ก็คือกิจกรรมที่เกิดขึ้นในบอลรูม พื้นที่ของห้องบอลรูมจะมีการจัดกิจกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการ ‘Voguing’ ซึ่งเป็นการเต้นที่มีการใช้ทักษะร่างกายโดยเฉพาะแขนและขา และมักทำท่าโพสต์คล้ายกับท่าเต้นในเพลงชื่อดังของมาดอนนาอย่าง ‘Vogue’ ที่จะใช้ท่าทางเป็นเหมือนกรอบภาพของหน้าตนเอง ‘Vogue’ จึงเป็นที่มาของชื่อการแข่งขันการเต้นในห้องบอลรูมแห่งนี้ด้วย
.
ในด้านการแข่งขัน ‘Voguing’ ถือว่าเป็นการแข่งขันที่จะใช้ท่าทางแทนการใช้คำพูดในการตอบโต้คู่ต่อสู้ของเรา ส่วนผลการตัดสินจะเป็นอย่างไรนั้นจะขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและความประทับใจของกรรมการเพียงอย่างเดียว อีกทั้งการเต้น Vogue ยังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักเต้น ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าการเต้นในรูปแบบนี้ถือเป็นศาสตร์และศิลป์อีกแขนงหนึ่งที่ทรงคุณค่ามาจนถึงในปัจจุบัน
.
ถึงแม้ว่า Ballroom Culture จะมีความคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมที่เป็นที่รู้จักมากกว่าอย่าง แดร็ก หรือ Drag Culture ที่ช่วงหลังจะมีเหล่า LGBTQ+ แต่งตัวตามเพศตรงข้ามตนเอง แต่ข้อแตกต่างระหว่างสองวัฒนธรรมนี้คือ การแสดงในบอลรูมนั้นจะเน้นการแข่งขันผ่านตัวแทนของแต่ละบ้านที่มาประชันกัน ในขณะที่ Drag queen (คนแต่งแดร็ก) จะเน้นการสร้างตัวตนของตนเองขึ้นมา โดยสร้างกิริยาท่าทางตามแต่ที่จินตนาการว่าบุคคลที่สร้างขึ้นมานั้นควรมีท่าทางอย่างไร และมักจะเรียกว่าการแสดงมากกว่าการแข่งขัน
.
แต่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งสองวัฒนธรรมนี้ถือเป็นความสำเร็จของชาว LGBTQ+ ในสมัยก่อนที่ส่งผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยได้สร้างเสริมแรงและกำลังใจซึ่งกันและกันบนพื้นฐานที่ว่ามนุษย์เราเกิดมาเท่าเทียมกันและมีความแตกต่างกัน และไม่ว่าเราจะแสดงเพศวิถีของเราอย่างไรก็ตาม ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลของเราตราบใดที่ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน
.
การที่เราได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ของชาว LGBTQ+ และด้านศิลปะอย่างการเต้น Vogue ก็ถือเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมนี้ อันจะกลายมาเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างให้กับกลุ่มคนใหม่ ๆ ในปัจจุบันต่อไป
.
อ้างอิง
What is Ballroom Culture? - Google Arts & Culture. (n.d.). Google Arts & Culture. https://artsandculture.google.com/.../-wXxkJcTzeUcdg...
.
Livingston, J. (1990). Paris Is Burning. Off White Productions Inc.
Boonprasert, N. (2019, July 😎. ทำความรู้จัก Ball Floor : โลกใบที่สองของเหล่า แดรกควีน 80s ผ่าน Pose และ Paris is Burning - NYLON Thailand. NYLON Thailand. https://www.nylonthailand.com/ball-floor-pose-paris-is.../
.
เนื้อหา: อาทิตยา ขันทอง
พิสูจน์อักษร: นิชาพา และ พรวิตา
ภาพ: อนันตญา เรืองเดช
.
#Ballroom #BallroomCulture #ParisIsBurning